เคล็ดลับการไหว้พระจันทร์  เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล

การไหว้พระจันทร์เป็นประเพณีที่ชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันปี

มักจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน    อาจจะตรงกับ วันในเดือนกันยายน หรือ ตุลาคมก็ได้  ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง ชาวจีน จึงเรียกวันนี้ว่า  “วันจงชิว”  (Zhong Qiu) แปลว่า “วันกลางฤดูใบไม้ร่วง”

ความเชื่อของชาวจีน

วันไหว้พระจันทร์เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงและส่องแสงสว่างไสว      งดงามที่สุด ชาวจีนจึงยกให้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม และ เป็นสื่อกลางของการคิดถึงกันและกัน  ดังที่เราเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า เมื่อต้องจากบ้านไปไกลและเกิดคิดถึงครอบครัวให้แหงนมองดวงจันทร์ ซึ่งเป็นดวงเดียวกับที่คนที่บ้านมองเห็น เพื่อส่งความรู้สึกที่ดี ส่งความคิดถึงไปยัง ครอบครัวและคนที่รักผ่านดวงจันทร์     ชาวจีนจึงได้นิยามวันไหว้พระจันทร์ ให้มีอีกความหมาย ว่า วันแห่งการอยู่พร้อมหน้ากันของครอบครัว”

เตรียมของไหว้พระจันทร์

การไหว้พระจันทร์จะใช้ของไหว้คล้ายกับการไหว้เจ้าทั่วไป คือ

 ธูป เทียน กระถางธูป

 – กระดาษเงิน กระดาษทอง

 – ดอกไม้สด 1 คู่

    น้ำชา 

   น้ำบริสุทธิ์

โคมไฟ สำหรับจุดไฟที่เปรียบเหมือนชีวิตที่สว่างไสว

ของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง เมื่อชาวจีนเปรียบพระจันทร์เป็นเพศหญิง ของไหว้จึงต้องมี ของสวย ๆ งาม ๆ เช่น ชุดเครื่องแป้ง  เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของ ผู้หญิง ตลับแป้ง หรือน้ำหอม ด้วย เพื่อเป็นการสื่อว่าพระจันทร์นั้น มีเสน่ห์ และความ สวยงามเหมือนหญิงสาว

ต้นอ้อย 1 คู่ สำหรับทำเป็นซุ้ม

อาหารเจชนิดแห้ง   เช่น เห็ดหอม วุ้นเส้น สาหร่ายทะเล ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ เป็นต้น

–  ผลไม้ต่าง ๆ ใช้ผลแนะนำให้ไม้ที่มีชื่อและความหมายเป็นสิริมงคล เช่น

ทับทิม  หมายถึงลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง

แอปเปิล หมายถึงความสงบสุข

องุ่น หมายถึงความเพิ่มพูน

ส้ม หมายถึงความเป็นมงคล

สาลี่ หมายถึงขอให้มีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในชีวิต

รวมทั้งส้มโอ แต่ไม่ควรใช้ผลไม้ที่มียางหรือมีหนาม นอกจากนั้นยังมี

ขนมหวานที่เป็นมงคล ควรเลือกขนมที่มีรูปทรงกลมเหมือนพระจันทร์ เช่น
ขนมเปี๊ยะ  เป็นขนมที่มักมีตัวอักษรมงคลสีแดงประทับอยู่กลางขนม และเป็นสัญลักษณ์ ของความพรั่งพร้อม สมบูรณ์ สมหวัง ความเป็นสิริมงคล และความสามัคคี

ขนมโก๋    หมายถึงความร่ำรวยและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคล ความปรารถนาดี และความสามัคคี

เคล็ดลับเสริมในการเลือกขนมไหว้พระจันทร์

ปัจจุบันขนมไหว้พระจันทร์มีหลากหลายไส้  ทั้งแบบรสชาติดั้งเดิม และรสชาติ ใหม่ ๆ ซึ่งเวลาซื้อเรามักจะเลือกจากความชอบ แต่อาจจะไม่เคยคิดถึงความเป็นสิริมงคล หรือความหมายดี ๆ ที่มากับขนมไหว้พระจันทร์             วันนี้อาจารย์จึงขอแนะนำความหมายของไส้ขนมไหว้พระจันทร์ที่เป็นเสริม          สิริมงคลสำหรับไหว้ รับประทาน หรือมอบให้แก่กัน  ไว้ด้วย

ไส้ไข่แดง   ไข่แดงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดโชคดี ไข่แดงที่สอดไส้ ในขนมไหว้พระจันทร์เปรียบเสมือนพระจันทร์อีก 1 ดวง ใครที่ได้เป็นเจ้าของจึงมีโชค

ไส้เม็ดบัว   ได้มาจากดอกบัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจิตใจที่บริสุทธิ์ อายุที่ยืนยาว เกียรติยศ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสงบสุข

ไส้โหงวยิ้ง หรือ ธัญพืช เป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์

ไส้เกาลัด  คนจีนนิยมรับประทานเกาลัดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเกาลัดหมายถึง “ลูกชาย” และ “สิ่งอันเป็นที่รัก” ถือเป็นของมงคล ชาวจีนจึงปลูกต้นเกาลัดไว้ใน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงนำไปใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาด้วย

ไส้ลูกพลัม หรือ ลูกพรุน คือ สัญลักษณ์ของความกล้าหาญและความหวัง ดุจดังดอกพลัม (ดอกบ๊วย) ที่ชูช่อหยัดยืนอย่างงดงามในฤดูหนาว ทั้งยังหมายถึงการเริ่มต้นตามปฏิทิน จันทรคติ

ไส้ถั่วแดง   ถั่วแดงเป็นธัญพืชที่มีใยอาหารสูง  เป็นแหล่งรวมของวิตามินบี ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม โพแทสเซียม และแร่ธาตุอื่นๆ ชาวจีนโบราณเชื่อว่าไตเป็นอวัยวะ ที่กระตุ้นให้ เกิดความรู้สึกกลัว การรับประทานถั่วแดงจึงเหมือนการช่วยเพิ่มความกล้าหาญให้กับไต

ไส้ทุเรียน ทุเรียนเป็นผลไม้มงคล เชื่อว่าเป็นตัวแทนความฉลาดหลักแหลม  เข้มแข็ง สามารถป้องกันตนเองได้ จึงชื่อเสริมเรื่องสติปัญญา

ไส้พุทราจีน ชาวจีนมักใช้พุทราจีนในงานมงคล  เพราะชื่อมีความหมายที่เป็นมงคล เปรียบได้กับความเจริญรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์

ขนมไหว้พระจันทร์บัวหิมะ เป็นขนมไหว้พระจันทร์อีกตำรับหนึ่งที่เป็นที่นิยมในช่วงค.ศ.1990  ได้ชื่อตามรูปร่างหน้าตาที่ดูอ่อนหวาน นุ่มนวล ไหว้พระจันทร์บัวหิมะจึงมีรสชาติ หวานกว่าขนมไหว้พระจันทร์ตำรับดั้งเดิม  จะใช้การนึ่งและแช่เย็นแทนการอบ

ช่วงเวลาการไหว้พระจันทร์ 

การไหว้พระจันทร์ มักจะเริ่มต้นตอนหัวค่ำ หรือเมื่อพระจันทร์เริ่มปรากฏบน ฟากฟ้า  ถึงแม้บางปี หรือในสถานบางแห่ง จะมองไม่เห็นพระจันทร์ในคืนนั้น  แต่พิธี ไหว้พระจันทร์ก็ยังต้องทำเช่นที่เคยปฏิบัติกันมา โดยพิธีจะดำเนินไปจนถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม

เคล็ดลับเสริมจากอาจารย์ในการไหว้พระจันทร์
  ให้หาภาชนะที่ไม่โปร่งใสใส่น้ำไว้รองรับพระจันทร์

            ถือภาชนะนั้นเดินไปตรงจุดที่เห็นพระจันทร์  ให้เงาจันทร์สะท้อนอยู่ในน้ำ

ใช้อุ้งมือประคองภาชนะ เหมือนเรากำลังรองรับพระจันทร์  และขออะไรก็ได้เพียง 1 ข้อ ภายในเวลาก่อนเที่ยงคืน

สถานที่เหมาะแก่การประกอบพิธีไหว้พระจันทร์

สถานที่ไหว้พระจันทร์ในช่วงค่ำควรเลือกสถานที่กลางแจ้ง อาจจะเป็นหน้าบ้าน หรือดาดฟ้าก็ได้  เมื่อเลือกสถานที่แล้วให้จากทำซุ้มต้นอ้อยให้เสร็จในช่วง พระอาทิตย์ตกดินหรือตอนหัวค่ำ และก่อนพระจันทร์จะลอยสูงเกินขอบฟ้าให้ตั้งโต๊ะ จัดของหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  จุดธูปเทียน อธิษฐานขอพรจากพระจันทร์ และควรเก็บโต๊ะและของไหว้ก่อนที่พระจันทร์จะเลยศีรษะไป  หรือเมื่อเทียน เล่มใหญ่ดับลง

หลังเสร็จพิธีทุกคนจะรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ร่วมกัน โดยต้องแบ่งให้ชิ้นเท่ากัน และพอดีกับจำนวนคนในครอบครัว ห้ามขาดหรือเกินเด็ดขาด เพราะเป็นสัญลักษณ์ ของความสามัคคี นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมขนมไหว้พระจันทร์ จึงต้องมีรูปร่างเป็นก้อน ทรงกลมแบบนี้